วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

กศน. สระแก้ว ส่งเสริมการเรียนรู้อาชีพเกษตรกรรม ผ่าน "ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนตำบลเขาสามสิบ"

บันทึก จาก กศน.









จิรวรรณ โรจนพรทิพย์

กศน. สระแก้ว ส่งเสริมการเรียนรู้อาชีพเกษตรกรรม ผ่าน "ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนตำบลเขาสามสิบ"

"ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน" นับเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีนโยบายจัดการศึกษาเพื่อให้นักเรียนมีอาชีพ มีรายได้ และมีงานทำ เพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศไทย ให้สามารถก้าวสู่ประชาคมอาเซียนและประชาคมโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมอบหมายให้หน่วยงานและสถานศึกษาแต่ละแห่งศึกษาศักยภาพของตนเองในแต่ละพื้นที่ ได้แก่ ศักยภาพด้านทรัพยากรธรรมชาติ ศักยภาพด้านภูมิอากาศ ศักยภาพด้านภูมิประเทศ ศักยภาพด้านศิลปวัฒนธรรมประเพณี และศักยภาพด้านทรัพยากรมนุษย์ เพื่อจัดการศึกษาในระดับพื้นที่ (Area Based)

ขณะเดียวกัน มุ่งพัฒนา 5 กลุ่มอาชีพใหม่ ได้แก่ หลักสูตรกลุ่มอาชีพเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรมและบริการ ความคิดสร้างสรรค์ และอาชีพเฉพาะทาง ให้สอดคล้องมีศักยภาพ และสามารถ "รู้เขา รู้เรา เท่าทัน เพื่อแข่งขันได้ในเวทีโลก" ครอบคลุม 5 ภูมิภาคหลักของโลก ประกอบด้วย ทวีปเอเชีย ยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และแอฟริกา กระทรวงศึกษาธิการจึงได้กำหนดภารกิจที่จะพัฒนายกระดับการจัดการศึกษา เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถให้ประชาชนได้มีอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ที่มั่งคั่งและมั่นคง เพื่อเป็นบุคคลที่มีวินัยเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม จริยธรรม มีจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคม

กระทรวงศึกษาธิการคาดหวังว่า นโยบายดังกล่าวจะก่อให้เกิดการบูรณาการในการจัดการศึกษาทุกระดับตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ โดยให้องค์กรและหน่วยงานทุกภาคส่วนในระดับจังหวัด ทั้งภาคการศึกษา ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการรายใหญ่ รายย่อย ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไปพร้อมๆ กัน เน้นให้การศึกษาเป็นรากฐานของการพัฒนาคน พัฒนางาน และสร้างอาชีพ เพื่อความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ สอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดความเป็นเลิศทางด้านกลุ่มอาชีพหลัก

เพื่อตอบสนองนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงาน กศน. ได้ปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ โดยจัดให้มีศูนย์ฝึกอาชีพในชุมชน และใช้สถานศึกษา กศน. เป็นฐานการจัดกิจกรรมให้แก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่บริการ จัดทำเวทีประชาคมในระดับจังหวัด เพื่อกำหนดกรอบอาชีพของจังหวัดและจัดทำเวทีประชาคมในระดับอำเภอ โดยการวิเคราะห์ศักยภาพหลัก 5 ด้าน นำข้อมูลความต้องการด้านอาชีพของทุกตำบลและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาพิจารณาร่วมกับกรอบหลักสูตรการจัดการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำของจังหวัด เพื่อกำหนดเป็นกรอบหลักสูตรอาชีพของอำเภอ

ที่ผ่านมา สำนักงาน กศน. ได้พัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับกลุ่มอาชีพใหม่ 5 กลุ่ม คือหลักสูตรกลุ่มอาชีพเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรมและบริการ ความคิดสร้างสรรค์ และอาชีพเฉพาะทาง โดยการพัฒนาเนื้อหาสาระที่มีองค์ความรู้ครบวงจร ประกอบด้วย โครงสร้างของหลักสูตร 4 ตอน คือช่องทางการประกอบอาชีพ ทักษะการประกอบอาชีพ การบริหารจัดการและการจัดทำ โครงการประกอบอาชีพ เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ทักษะ และมีความมั่นใจในการประกอบอาชีพ

สำนักงาน กศน. ได้จัดกระบวนการเรียนการสอน เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ในส่วนของการฝึกปฏิบัติเน้นการฝึกปฏิบัติจริง เพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะในด้านอาชีพ รวมทั้งการเรียนหรือศึกษาดูงานในสถานประกอบการจริง เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจ และมองเห็นช่องทางการประกอบอาชีพอย่างครบวงจร วิทยากรที่จัดการเรียนการสอน เป็นผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญ ในสายงานอาชีพนั้นๆ



"กลุ่มอาชีพเกษตรกรรม"

หนึ่งในหลักสูตรยอดนิยม

เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่อยู่ในสังคมภาคการเกษตร เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจ และมีรายได้เพิ่มจากการประกอบอาชีพภาคการเกษตรในอนาคต ทางสำนักงาน กศน. ได้จัดหลักสูตรกลุ่มอาชีพเกษตรกรรม จำนวนมากถึง 20 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรการทำปุ๋ยชีวภาพ หลักสูตรการปลูกพืชผักเกษตรอินทรีย์ธรรมชาติ หลักสูตรการเพาะเห็ดนางฟ้า-นางรม หลักสูตรการเลี้ยงไก่พื้นเมือง หลักสูตรการเลี้ยงปลาดุกอุยในบ่อพลาสติก หลักสูตรการเลี้ยงปลาแรดในกระชังด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น หลักสูตรการขยายพันธุ์พืช หลักสูตรการเลี้ยงแพะเนื้อ หลักสูตรการผลิตน้ำตาลผงบริสุทธิ์จากอ้อย หลักสูตรการเพาะเลี้ยงไส้เดือนและทำปุ๋ยหมัก หลักสูตรการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม หลักสูตรการปลูกยางพารา หลักสูตรการเลี้ยงปลาช่อนแม่ลาด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น หลักสูตรการเลี้ยงหมูหลุม หลักสูตรการปลูกกล้วยไม้ตัดดอก หลักสูตรการขยายพันธุ์บอนสี หลักสูตรการปลูกและการแปรรูปกาแฟพันธุ์อาราบิก้า หลักสูตรการปลูกข้าวโพดหวาน หลักสูตรการเลี้ยงผึ้งโพรงไทย หลักสูตรการเลี้ยงโคเนื้อ



"ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนตำบลเขาสามสิบ"

กศน. ตำบลเขาสามสิบ และ ศูนย์ กศน. อำเภอเขาฉกรรจ์ ร่วมกับมูลนิธินโยบายสุขภาวะ อบต. ตำบลเขาสามสิบ ศูนย์พัฒนาสังคมหน่วยที่ 61 จังหวัดสระแก้ว ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จังหวัดสระแก้ว ได้ร่วมกันสนับสนุนการจัดตั้ง "ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนตำบลเขาสามสิบ" ที่บ้านเลขที่ 429 หมู่ที่ 3 ตำบลเขาสามสิบ อำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว ของ จ.ส.อ. ไพทูล พ้นธาตุ

จ.ส.อ. ไพทูล เจ้าของที่ดินแห่งนี้ และเป็นประธานศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนตำบลเขาสามสิบ ปัจจุบัน เป็นข้าราชการบำนาญ ที่สนใจทำการเกษตรผสมผสานและเกษตรอินทรีย์ชีวภาพอย่างจริงจัง สืบเนื่องจาก ช่วงที่ จ.ส.อ. ไพทูล รับราชการทหารอยู่นั้น เคยมีโอกาสได้ไปช่วยราชการที่หน่วยพัฒนาเคลื่อนที่ ได้เรียนรู้ว่าการดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสชี้แนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรในทุกระดับ ให้ดำเนินไปในทางสายกลางนั้น สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคโลกาภิวัตน์ได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังช่วยสร้างรากฐานชุมชน เศรษฐกิจและสังคมให้เข้มแข็ง นำไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุขที่ยั่งยืนได้

ต่อมา จ.ส.อ. ไพทูล ได้ย้ายครอบครัวมาอยู่บ้านคลองสามสิบ และได้รับที่ดินมรดกจากคุณพ่อ จำนวน 9 ไร่ 2 งาน จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ จ.ส.อ. ไพทูล สนใจก้าวเข้าสู่อาชีพเกษตรกรรมอย่างเต็มตัว โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นหลักในการทำอาชีพเกษตรกรรม หลังจากเดินหน้าสร้างงาน สร้างอาชีพใหม่ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ก็ทำให้ จ.ส.อ. ไพทูล ประสบความสำเร็จในอาชีพเกษตรกรรมตามที่ใฝ่ฝันไว้ เขามีเงินเหลือเก็บเพียงพอสำหรับซื้อที่ดินเพิ่มเติม ปัจจุบันมีพื้นที่ทำกินเพิ่มขึ้นเป็น 28 ไร่

ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนตำบลเขาสามสิบ แบ่งการใช้ประโยชน์พื้นที่ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยแบ่งพื้นที่สำหรับปลูกข้าว 7 ไร่ ขุดบ่อเลี้ยงปลา เนื้อที่ 6 ไร่ ปลูกหวาย 6 ไร่ และปลูกพืชผักแบบผสมผสานอีก 10 ไร่ มีคอกเลี้ยงหมู คอกเลี้ยงเป็ด ฟาร์มเพาะเห็ด สวนไผ่ ส่วนพื้นที่ที่เหลืออีก 1 งาน ใช้ก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย

"ช่วงปี 2550 ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ได้ยกระดับให้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ ต่อมาเมื่อ ปี 2555 ทางศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอเขาฉกรรจ์ ได้สนับสนุนให้สถานที่แห่งนี้เปลี่ยนฐานะเป็น "ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนตำบลเขาสามสิบ" โดยทำพิธีเปิดศูนย์อย่างเป็นทางการ เมื่อ วันที่ 9 สิงหาคม 2555 จนถึงปัจจุบัน" จ.ส.อ. ไพทูล กล่าว

วัตถุประสงค์หลักของการดำเนินงาน ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน ตำบลเขาสามสิบ คือเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ของท้องถิ่น เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง เป็นศูนย์ฝึกอบรมและจัดกิจกรรมต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐ เป็นศูนย์ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตรปลอดสาร พลังงานทดแทน และอื่นๆ เป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบในโครงการทำนา 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสนบาท รวมทั้งเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ข้าวท้องถิ่น และแปลงสาธิตขยายพันธุ์ข้าว ประมาณ 50 สายพันธุ์ ขณะเดียวกันยังเป็นศูนย์วิจัยและเพาะเมล็ดพันธุ์พืชผักพันธุ์แท้ เพื่อแจกจ่ายให้กับชาวบ้านในชุมชน ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน


การเปลี่ยนแปลงสังคมในยุคโลกาภิวัตน์ มีผลทำให้เศรษฐกิจ สังคม วิถีของการดำเนินชีวิตเปลี่ยนไป คนส่วนใหญ่หันไปพึ่งกระแสตะวันตกที่มุ่งแสวงหาสิ่งอำนวยความสะดวกสบายในชีวิตเป็นหลัก แต่ศูนย์แห่งนี้ช่วยให้ผู้มาเข้ารับการฝึกอบรมในศูนย์แห่งนี้ได้ปรับแนวความคิดและพฤติกรรมให้สามารถดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง จนสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนของตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ ซึ่งจะเป็นการสร้างรากฐานชุมชน เศรษฐกิจ และสังคม ให้เข้มแข็ง นำไปสู่สังคมแห่งความสุขอย่างยั่งยืน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ขอความคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมชมบล็อกของเรา
ณัฏฐภัทธ์ โพธิ์งาม

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
 
Blogger Templates